ผลลัพธ์ของการรักษาแบบป้องกันด้วยแฟคเตอร์แปดเข้มข้นในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียเอ ในโรงพยาบาลลำปาง

ผู้แต่ง

  • ณัฐวดี คำโสภา โรงพยาบาลลำปาง
  • ศิราณี วงศ์เรืองศรี กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลลำปาง

คำสำคัญ:

โรคฮีโมฟีเลียเอ , แฟคเตอร์แปดเข้มข้น , การรักษาแบบป้องกัน , คุณภาพชีวิต

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: ฮีโมฟีเลีย เป็นโรคเลือดออกง่ายหยุดยากแต่กำเนิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคฮีโมฟีเลียเอที่เกิดจากการขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือดหรือแฟคเตอร์แปด การเกิดเลือดออกส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและคุณภาพชีวิต หลักสำคัญของการรักษาเป็นการป้องกันและหยุดอาการเลือดออกโดยการให้แฟคเตอร์ทดแทน ซึ่งแบ่งเป็นแบบตามอาการและแบบป้องกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โรงพยาบาลลำปางได้เริ่มจัดสรรแฟคเตอร์แปดเข้มข้นเป็นการรักษาแบบป้องกันให้แก่ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงระดับปานกลางและรุนแรงมาก

วัตถุประสงค์: วัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาผลลัพธ์ทางการแพทย์ในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียเอ ก่อนและหลังได้รับการรักษาด้วยแฟคเตอร์แปดแบบป้องกันในโรงพยาบาลลำปาง วัตถุประสงค์รอง เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียเอ หลังได้รับการรักษาด้วยแฟคเตอร์แปดแบบป้องกัน

วิธีการศึกษา: การศึกษาเป็นแบบ retrospective historical cohort study และ cross-sectional study รวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนของโรงพยาบาลลำปาง ในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียเอทุกรายในโรงพยาบาลลำปางที่ได้รับการรักษาแบบป้องกันด้วยแฟคเตอร์แปดเข้มข้นตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการรักษาก่อนและหลังการรักษาแบบป้องกัน

ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การวิจัยจำนวน 18 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 100 เป็นโรคฮีโมฟีเลียเอชนิดรุนแรงมาก 13 ราย (ร้อยละ 72) และชนิดรุนแรงปานกลาง 5 ราย (ร้อยละ 28) ค่ามัธยฐานของอายุที่วินิจฉัยโรคฮีโมฟีเลียเอคือ 20 เดือน ค่ามัธยฐานของอายุ ณ ช่วงที่เก็บข้อมูลวิจัยคือ 17 ปี ผลลัพธ์ทางการแพทย์ที่มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนและหลังการรักษาแบบป้องกัน ได้แก่ จำนวนแฟคเตอร์แปดเข้มข้นที่ใช้ พบว่าจำนวนแฟคเตอร์ที่ใช้ทั้งหมดและที่ใช้ในผู้ป่วยนอก หลังให้การรักษาแบบป้องกันมีปริมาณมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value <0.001) ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องเลือดออก หลังให้การรักษาแบบป้องกันมีระยะเวลาน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value 0.007) อัตราการนอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องเลือดออกต่อปี และจำนวนครั้งต่อปีที่มีเลือดออกไม่มีความแตกต่างกัน ด้านภาวะแทรกซ้อนก่อนและหลังให้การรักษาแบบป้องกัน พบผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีร้อยละ 5.6 ไวรัสตับอักเสบบีร้อยละ 11.1 และไวรัสตับอักเสบซีร้อยละ 16.7 ส่วนการตรวจพบสารต้านปัจจัยการแข็งตัวของเลือด การเกิดความผิดปกติของข้อเข่าและข้อเท้า และผลลัพธ์ทางด้านคุณภาพชีวิต มีเพียงข้อมูลช่วงหลังให้การรักษาแบบป้องกัน คือ ตรวจพบสารต้านปัจจัยการแข็งตัวของเลือดร้อยละ 17.7 แบ่งเป็น ระดับต่ำร้อยละ 33.3 และระดับสูงร้อยละ 66.7 การเกิดความผิดปกติของข้อ จากการประเมินภาพถ่ายทางรังสี โดยใช้ Arnold-Hilgartner classification ระยะที่พบมากที่สุดทั้งข้อเข่าและข้อเท้า คือ ระยะที่ 0 (ข้อปกติ) จากการประเมินคะแนนสุขภาพข้อ โดยใช้แบบให้คะแนนสุขภาพข้อของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เวอร์ชัน 2.1 พบค่ามัธยฐานและค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ที่ 1 และ 3 ที่ 15 (5, 29) คะแนน จากคะแนนรวมสูงสุดที่เป็นไปได้ 124 คะแนน คะแนนคุณภาพชีวิตจากแบบประเมิน EQ-5D-5L ฉบับภาษาไทย พบคะแนนอรรถประโยชน์เฉลี่ย 0.8 คะแนน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.2) คะแนนสภาวะสุขภาพทางตรงเฉลี่ย 79 คะแนน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 18.6) จากแบบประเมิน SF-36 ฉบับภาษาไทย พบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตสูงที่สุดคือด้านสุขภาพจิตทั่วไปเฉลี่ย 79 คะแนน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 15.5) และคะแนนคุณภาพชีวิตน้อยที่สุดคือด้านการทำหน้าที่ทางกายเฉลี่ย 65 คะแนน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 24.5)

สรุป: ผลลัพธ์ทางด้านการแพทย์ ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องเลือดออก หลังให้การรักษาแบบป้องกันมีระยะเวลาน้อยกว่าก่อนให้การรักษาแบบป้องกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลลัพธ์ทางด้านคุณภาพชีวิต จากแบบประเมิน EQ-5D-5L ฉบับภาษาไทย คะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ดี จากแบบประเมิน SF-36 ฉบับภาษาไทย คะแนนคุณภาพชีวิตน้อยที่สุดคือด้านการทำหน้าที่ทางกาย คะแนนคุณภาพชีวิตมากที่สุดคือด้านสุขภาพจิตทั่วไป

Downloads

Download data is not yet available.

References

World Federation of Hemophilia. Report on the Annual Global Survey. World Federation of Hemophilia 2018.

Srivastava A, Santagostino E, Dougall A, Kitchen S, Sutherland M, Pipe SW, et al. WFH Guidelines for the Management of Hemophilia, 3rd edition. Haemophilia 2020;26:1-158.

อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์. โรคฮีโมฟีเลีย : การรักษาและการป้องกัน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชัยเจริญ; 2553.

Trindade G, Viggiano L, Brant E, Lopes C, Faria M, Ribeiro P, et al. Evaluation of quality of life in hemophilia patients using the WHOQOL-bref and Haemo-A-Qol questionnaires. Hematol Transfus Cell Ther. 2019;41:335–41.

Zhang H, Huang J, Kong X, Ma G, Fang Y. Health-related quality of life in children with haemophilia in China: A 4-year follow-up prospective cohort study. BioMed Central 2019;17:28.

Mahlangu J, Oldenburg J, Callaghan M, Shima M, Mancuso M, Trask P, et al. Health-related quality of life and health status in persons with haemophilia A with inhibitors: A prospective, multicentre, noninterventional study (NIS). Haemophilia. 2019;25:382–91.

Castano A, Restrepo M, Durán F. Quality of life in a population with haemophilia: A cross-sectional study from a single haemophilia treatment center. Rev Colomb Reumatol. 2017;24:18–24.

ดารินทร์ ซอโสตถิกุล, อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์. แนวทางการวินิจฉัยและดูแลรักษาภาวะเลือดออกง่าย [อินเทอร์เน็ต]. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย; 2560 [เข้าถึงเมื่อ 11 ม.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161215143311.pdf.

ดารินทร์ ซอโสตถิกุล. การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเลือดออกง่าย [อินเทอร์เน็ต]. สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย; 2564 [เข้าถึงเมื่อ 15 ม.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://tsh.or.th/Knowledge/Details/73.

Ng WH, Chu WC, Shing MK, Lam WW, Chik KW, Li CK, et al. Role of imaging in management of hemophilic patients. AJR Am J Roentgenol. 2005;184:1619–23.

กลุ่มการศึกษาการให้แฟคเตอร์เพื่อป้องกันเลือดออกนานาชาติ. แบบให้คะแนนสุขภาพข้อของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เวอร์ชัน 2.1 คู่มือวิธีการใช้. International Prophylaxis Study Group 2006.

Pattanaphesaj J, Thavorncharoensap M, Ramos-Goñi JM, Tongsiri S, Ingsrisawang L, Teerawattananon Y. The EQ-5D-5L Valuation study in Thailand. Expert Rev Pharmacoecon Outcomes Res. 2018;18:551-8.

นนทพัทธ์ สนสอาดจิต, พรรณทิพา ศักดิ์ทอง. ความเที่ยงและความตรงของแบบสอบถาม EQ-5D-5L ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง. จุฬาลงกรณ์เวชสาร. 2558;59:489–501.

Leurmarnkul W, Meetam P. Properties testing of the retranslated SF-36 (Thai Version). Thai J Pharm Sci. 2005;29:69-88.

Chuansumrit A, Isarangura P, Hathirat P. Prophylactic treatment for hemophilia A patients: a pilot study. Southeast Asian J Trop Med Public Health. 1995;26:243-6.

Roy S, De A. Effect of prophylactic management of hemophilia on bleeding episodes. Indian J Hematol Blood Transfus. 2019;35:496–501.

Chuansumrit A, Sosothikul D, Natesirinilkul R, Lektrakul Y, Charoonruangrit U. Efficacy and safety of low- dose prophylaxis of highly purified plasma- derived factor VIII concentrate produced by the National Blood Centre, Thai Red Cross Society. Haemophilia. 2018;24:e387-90.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-03-29