การศึกษาการสูญเสียปีสุขภาวะจากสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองของประชากร จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • วิภาวี เหล่าจตุรพิศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

การสูญเสียปีสุขภาวะ, โรคหลอดเลือดสมอง

บทคัดย่อ

การสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability Adjusted Life Year: DALYs) เป็นเครื่องชี้วัดที่สามารถสะท้อน ปัญหาสุขภาพของประชากรได้ครอบคลุมทั้งการตาย ความเจ็บป่วย และความพิการ โดยวัดออกมาเป็นหน่วย วัดเดียวกัน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคาดประมาณภาระทางสุขภาพจากสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อที่จะกำหนดแนวทางการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดโรค หรือวางแผนนโยบายในการดูแลสุขภาพแก่ผู้บริหาร โดยศึกษาข้อมูลทุติยภูมิเพื่อคาดประมาณการสูญเสียปีสุขภาวะจากสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองของประชากรจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2565 โดยศึกษาเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง อาศัยข้อมูลการเจ็บป่วยจากฐานข้อมูลเวชระเบียนโรงพยาบาล ข้อมูลจำนวนประชากรจากฐานทะเบียนราษฎร์มหาดไทย และข้อมูลการเสียชีวิตจากฐานกองนโยบายและแผน กระทรวงสาธารณสุข

ผลการศึกษา พบว่า อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2565 73.45 ปี อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองของประชากรจังหวัดกาฬสินธุ์ ชายมีอัตราตายมากกว่าหญิง 1.85 เท่า โดยมีอัตราตาย 89.57 และ 46.57 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ อัตราการตาย อำเภอที่มีอัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองสูงสุด คือ อำเภอกมลาไสย รองลงมา คือ อำเภอร่องคำและ อำเภอนาคู อัตราการตาย 110.89 90.95 และ 80.67 ตามลำดับ จำนวนปีสุขภาวะที่เสียไป (DALYs) จำนวน 19,651 ปี ชายสูญเสียมากกว่าหญิง 2.16 เท่า ชาย 13,436 ปี และหญิง 6,215 ปี จำนวนปีสุขภาวะที่เสียไปสูงสุด คือ ช่วงอายุ 60-69 ปี และช่วงอายุ 45-59 ปี ใกล้เคียงกัน 5,983 ปีและ 5,827 ปี อำเภอที่มีจำนวนปีสุขภาวะที่เสียไปสูงสุด คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ รองลงมา คือ อำเภอกมลาไสย และ อำเภอยางตลาด โดยมีจำนวนปีสุขภาวะที่เสียไป 3,271, 2,534 และ 2,097 ปี ควรร่วมกำหนดแนวทางมาตรการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1) คัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 2) ประเมิน CVD Risk กรณีพบความเสี่ยง ≥ 20% ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบเข้มข้น เร่งด่วน 3) ผู้ป่วย STROKE ที่สูบบุหรี่สามารถเข้าสู่ระบบและติดตามการเลิกสำเร็จ 4) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการไม่เกิน 60 ชั่วโมง ได้รับการรักษาและส่งต่อเร่งด่วน

References

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2565). รณรงค์วันโรคหลอดเลือดสมองโลก หรือวันอัมพาตโลก 2565เน้นสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองให้กับประชาชน. นนทบุรี : กระทรวงสาธารณสุข.

กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค (2563). รายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562. กลุ่มเทคโนโลยีระบาดวิทยา และมาตรการชุมชน กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

จารุรัตน์ พัฒน์ทอง และนิสิต บุญนาค. (2566). การศึกษาแนวโน้มอายุคาดเฉลี่ยของประชากรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอัตราการเสียชีวิตแยกรายอำเภอ ปี2560-2564.วารสารวิชาการสาธารณสุข,32 (1), 43-52.

สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. (2560). การสูญเสียปีสุขภาวะ Disability-Adjusted Life Years: DALYs รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2557. มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ.นนทบุรี:กระทรวงสาธารณสุข.

สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. (2566). การสูญเสียปีสุขภาวะ Disability-Adjusted Life Years: DALYs รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2562. มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ.นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์. (2566). สรุปการตรวจราชการกรณีปกติจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2566 รอบที่ 2. กาฬสินธุ์ : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์.

Froio, N. L. et al. (2017). Anticoagulation in acute ischemic stroke: A systematic search Revista da Associacao Medica Brasileira, 63(1), pp. 50–56. Doi : 10.1590/1806-9282.63.01.50.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-04-27

ฉบับ

บท

รายงานผลการวิจัย