ระบบข้อมูลข่าวสารด้านอนามัยแม่และเด็ก เขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา Watch Information System
Main Article Content
Abstract
ระบบข้อมูลข่าวสารด้านอนามัยแม่และเด็ก (WATCH INFORMATION SYSTEM) เป็นผลการศึกษาจากการดำเนินงานโครงการ WATCH หรือ The Korat Urban Watch Project ซึ่งเป็นโครงการที่ฝ่ายเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาร่วมกับคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอเมือง (คปสอ.ม.) จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินงานเพื่อพัฒนาสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มด้อยโอกาส ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และออสเตรเลีย
การจัดระบบข้อมูลข่าวสารด้านอนามัยแม่และเด็กที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการระบุปัญหา ระบุกลุ่มเสี่ยง กลุ่มด้อยโอกาสที่ควรได้รับบริการตามความสำคัญเร่งด่วนและใช้ในการควบคุมกำกับและประเมินผลการดำเนินงานด้วย จึงได้มีการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารด้านอนามัยแม่และเด็ก และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า WIS โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อระบุกลุ่มเป้าหมายแม่และเด็กในระดับต่าง ๆ คือ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มปัญหาในการจัดบริการสาธารณสุข
- เพื่อให้ทราบดัชนีสถานะสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก
- เพื่อควบคุมกำกับการจัดบริการสาธารณสุขระดับต่าง ๆ
โปรแกรม WIS เขียนโดยใช้ Clipper Version 5.01 แหล่งเก็บข้อมูลในโปรแกรมแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ คู่สมรสวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด เด็กอายุแรกเกิดถึง 5 ปี และส่วนของรายงานต่าง ๆ โดยมีแหล่งข้อมูลนำเข้ารายบุคคลจากสถานบริการต่าง ๆ และชุมชนต่าง ๆ เครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลในสถานบริการได้จากรายงานเกิด ตาย แบบคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ทะเบียนการให้บริการ วางแผนครอบครัวการฝากครรภ์ และ บัตรสุขภาพเด็กดี ส่วนเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลในชุมชนได้จากบัญชี 3 4 6 7 และรายงานเยี่ยมบ้าน ได้มีการนำข้อมูลเหล่านี้มาบันทึกโดยใช้โปรแกรม WIS โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ฝ่ายเวชกรรมสังคม และสำนักสาธารณสุขอำเภอเมือง ซึ่งโปรแกรม WIS จะสามารถออกรายงานที่ระบุกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีการจัดบริการเชิงรุกต่อไป
กลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ได้แก่ กลุ่มแม่และเด็กในเขตเมือง จังหวัดนครราชสีมา แบ่งเป็นคู่สมรสวัยเจริญพันธุ์ 54,680 คน หญิงตั้งครรภ์ 4,709 คน หญิงหลังคลอด 4,709 คน และเด็กอายุแรกเกิดถึง 5 ปี 25, 989 คน
ผลการศึกษาพบว่า ความครอบคลุมในการนำเข้าข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายแม่และเด็ก ในเขตเมือง ตั้งแต่ตุลาคม 2533 ถึง กันยายน 2536 โดยใช้โปรแกรม WIS 54,973 คน คิดเป็นร้อยละ 61.02 แบ่งเป็นคู่สมรสวัยเจริญพันธุ์ร้อยละ 56.69 หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 57.80 หญิงหลังคลอดร้อยละ 74.41 เด็กแรกเกิดถึง 5 ปีร้อยละ 68.30 ส่วนในด้านความถูกต้องของข้อมูลจากการสุ่มตรวจพบว่า คู่สมรสวัยเจริญพันธุ์ข้อมูลถูกต้องร้อยละ 97.24 หญิงตั้ง ครรภ์ร้อยละ 96.50 หญิงหลังคลอดร้อยละ 97.40 เด็กแรกเกิดถึง 5 ปี ร้อยละ 95.55 ปัจจุบันได้พัฒนาโปรแกรม WIS พร้อมคู่มือการใช้เรียบร้อยแล้ว และนำไปเผยแพร่โดยการจัดอบรมแก่หัวหน้างานส่งเสริมสุขภาพ และผู้รับผิดชอบงานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุขอำเภอเมืองในฝ่ายเวชกรรมสังคม 20 จังหวัด 2 ครั้งในเดือน พฤษภาคม และสิงหาคม 2536
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
รุจิรา มังคละศิริ โครงการพัฒนากลวิธีดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานในกลุ่มเสี่ยงแม่และเด็กเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา. ฝ่ายเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2533-2536
เสริมพันธุ์ นิตย์นรา และพัชราภร ศิริจงประเสริฐ คู่มือการใช้โปรแกรม WATCH INFORMATION SYSTEM. ฝ่ายเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลนครราชสีมา 2536
เติมศรี ชำนิจารกิจ และคณะ Maternal Risk Factor for Low Birth Weight in Thiland 1987. เอกสารโรเนียว คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1988
สมชาย ดูรงค์เดช การศึกษาปัจจัยทางด้านสังคมจิตวิทยาในเด็กก่อนวัยเข้าเรียน. เอกสารโรเนียว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิตล 2534