สรุปและวิเคราะห์ข้อมูลระบาดวิทยาโรคหัด ที่รับบริการในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
Main Article Content
Abstract
ทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ระบาดวิทยาของโรคหัด ที่รับบริการในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จากทะเบียนแยกโรคหัด (E.1) และแบบสอบสวนโรคหัดเฉพาะรายย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530 ถึง วันที่ 30 เมษายน 2534 เป็นเวลา 4 ปี 4 เดือน จำนวนผู้ป่วยโรคหัดทั้งหมด 801 ราย (จากแบบสอบสวนโรคหัดเฉพาะราย 115 ราย) เพื่อศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรคหัดบุคคลใดบ้างที่ป่วยเป็นโรคนี้ พบการระบาดของโรคในช่วงเวลาใด และผู้ป่วยมาจากแหล่งใด ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคหัด รวมทั้งศึกษาผู้ป่วยโรคหัดกับการฉีดวัคซีน และดูความสัมพันธ์การเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน ระหว่างกลุ่มที่ฉีดกับกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนหัด
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 0-4 ปี มีถึงร้อยละ 46.19 พบการระบาดของโรคชุกในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (ม.ค. – เม.ย.) และบางปีจะพบมากในเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และพฤศจิกายน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากเขตอำเภอเมือง ร้อยละ 59.68 และกลุ่มเสี่ยงอายุต่ำกว่า 1 ปี มีร้อยละ 7.2
สำหรับผลการศึกษาจากแบบสอบสวนโรคหัดเฉพาะรายพบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี เป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.4 และกลุ่มเสี่ยงอายุต่ำกว่า 1 ปี มีร้อยละ 4.3 ผู้ป่วยโรคหัดไม่เคยป่วยเป็นโรคหัดมาก่อนมีถึงร้อยละ 90.43 และไม่เคยฉีดวัคซีนหัดเลย พบร้อยละ 79.13 ส่วนภาวะแทรกซ้อนปอดอักเสบในผู้ป่วยโรคหัด พบร้อยละ 26.09 ได้ทดสอบทางสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคหัดที่ไม่เคยฉีดวัคซีนหัด มีภาวะแทรกซ้อนปอดอักเสบมากกว่าผู้ป่วยโรคหัดที่เคยฉีดวัคซีนหัดมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ณ ระดับ .001 การศึกษาวิจัยครั้งนี้สามารถนำผลมาใช้รวบรวมปัญหาด้านพฤติกรรมการป้องกันโรคของกลุ่มเป้าหมาย เรียบเรียงเนื้อหาสาระนำไปเผยแพร่ความรู้ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์กับผู้ปกครองเด็ก และองค์กรในชุมชน กระตุ้นเตือนนำบุตรหลานให้ไปรับบริการฉีดวัคซีนหัดตามเกณฑ์ที่กำหนดตลอดจนใช้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริหารประกอบการตัดสินใจ กำหนดนโยบายแก้ปัญหาโรคหัดให้ครอบคลุมตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
ทะเบียนแยกโรคหัด (E1) ฝ่ายสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ประจำปีพุทธศักราช 2530 ถึงปีพุทธศักราช 2534
แบบสอบสวนโรคหัดเฉพาะราย ตั้งเเต่ปีพุทธศักราช 2530 ถึงปีพุทธศักราช 2534 สอบสวนโดยพยาบาลสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลมหาราชนคราชสีมา
เอกสารแปลและเรียบเรียงจาก Risk Factors for Fatal Measles Infections : Nieburg Philip and Dibley Michael J; International Joumal of Epiderniology 1986 ; 15 : 309-311 ในรายงานการเฝ้าระวังโรคประจำสัปดาห์ VoL18 Number 21 June 5,1987
สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2528 กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข