การจัดการกากตะกอน (Sludge) ของระบบบำบัดน้ำเสีย
Abstract
โรงพยาบาลเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคจากผู้ป่วยและญาติที่มารับการรักษาพยาบาล น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงพยาบาล จึงมีการปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคเหล่านี้ ดังนั้น หากระบบบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพการบำบัดไม่ดี ก็จะมีโอกาสเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกโรงพยาบาลได้ ดังนั้น น้ำเสียที่เกิดจากอาคารให้บริการรักษาผู้ป่วยทุกหลังภายในโรงพยาบาลต้องผ่านการบำบัดและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนระบายออกสู่คูคลอง/ท่อระบายน้ำสาธารณะนอกโรงพยาบาล ในระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้มักจะใช้วิธีการบำบัดทางชีวภาพแบบใช้ออกซิเจน โดยอาศัยสิ่งมีชีวิตพวกจุลินทรีย์ทั้งหลายในการย่อยสลาย ดูดซับ หรือเปลี่ยนรูปของมวลสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในน้ำเสียให้มีค่าความสกปรกน้อยลง มวลสารที่อยู่ในน้ำเสียจะถูกจุลินทรีย์ใช้เป็นอาหารและเจริญเติบโตขยายพันธุ์ต่อไป ทำให้เกิดโดยสารอินทรีย์ต่าง ๆ ในน้ำเสีย เมื่อถูกเปลี่ยนมาเป็นจุลินทรีย์จะมีน้ำหนักมากกว่าน้ำและสามารถแยกออกได้ง่ายด้วยการตกตะกอนในถังตกตะกอน ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลอยขึ้นไปในอากาศกากตะกอนสลัดจ์ (Sludge) ที่เกิดขึ้นจะเป็นกากตะกอนอินทรีย์ ซึ่งเมื่อใช้งานระบบบำบัดน้ำเสียไปสักระยะหนึ่งแล้ว จะพบว่า น้ำเสียอาจจะมีการเกิดก๊าซกลายเป็นฟองบนผิวน้ำ ทำให้น้ำในระบบบำบัดเน่าเหม็น นอกจากนี้ยังทำให้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วไม่ได้คุณภาพ ส่งผลทำให้แหล่งธรรมชาติจะได้รับการปนเปื้อนเชื้อโรคเกิดการระบาดของโรคนั้น ๆ รวมทั้งกากตะกอนอินทรีย์ที่เป็นผลผลิตจากการบำบัดน้ำเสียก็จะมีเชื้อโรคและไข่พยาธิปนเปื้อนอีก เมื่อเห็นถึงความสำคัญของกากตะกอนอินทรีย์ที่เกิดในระบบบำบัดน้ำเสียแล้ว ผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียจึงควรใส่ใจในการจัดการกากตะกอนอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของโรงพยาบาลต่อไป