จริยธรรมในการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

          วารสารสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีนโยบายและการดำเนินการเพื่อให้การตีพิมพ์เผยแพร่บทความทางวิชาการ สามารถสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส โดยมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์สูงสุด ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รายละเอียดดังนี้

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

1. การส่งบทความ ผู้นิพนธ์ต้องเป็นผู้รับรองผลงานว่าเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะที่ใดมาก่อน หรืออยู่ระหว่างรอตีพิมพ์ และไม่อยู่ระหว่างการนำเสนอ เพื่อพิจารณาเผยแพร่ในวารสารฉบับอื่น

2. บทความที่ส่งตีพิมพ์ ผู้นิพนธ์จะต้องนำเสนอรายงานข้อมูลที่เป็นจริงที่เกิดจากการทำการวิจัยโดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

3. ผู้นิพนธ์ต้องแสดงเอกสารใบรับรองจริยธรรมการวิจัย หากบทความมีการวิจัยเกี่ยวข้องกับการวิจัยในมนุษย์ ตามเงื่อนไขของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

4. ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น (plagiarism) หากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของผู้นิพนธ์ จะต้องอ้างอิงผลงานของผู้นั้นและปรากฏอยู่ในรายการอ้างอิงท้ายบทความ

5. บทความที่ส่งตีพิมพ์จะต้องเป็นไปตามรูปแบบของวารสารที่กำหนดไว้ ในคำแนะนำในการส่งรายงานการวิจัยหรือบทความวิชาการของวารสาร

6. ชื่อผู้นิพนธ์ที่ปรากฏอยู่ในบทความต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในผลงานวิชาการนี้จริง โดยที่ผู้ร่วมวิจัย (co-author) ทุกคนต้องยินยอมและรับทราบการส่งบทความนี้มายังวารสารสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)

1. บรรณาธิการทำหน้าที่รับบทความและจัดกระบวนการประเมินพิจารณาบทความในรูปแบบ double – blinded เพื่อการตีพิมพ์ลงในวารสาร

2. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความและตรวจสอบบทความ ที่ส่งมาเพื่อเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตของวารสาร รวมถึงความครบถ้วนสมบูรณ์และคุณภาพของบทความก่อนการตีพิมพ์

3. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง

4. บรรณาธิการจะไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ในระหว่างช่วงเวลาการประเมินบทความและการตีพิมพ์วารสารฉบับนั้นๆ แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมินบทความ

5. บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความ และผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิรวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์

6. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อตรวจสอบว่าบทความที่จะนำลงตีพิมพ์ในวารสารต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น

7. หากพบว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในระหว่างกระบวนการประเมิน บรรณาธิการจะหยุดกระบวนการประเมินและติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตอบรับ หรือ ปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความนั้น

8. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด

9. บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยเสมอ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of reviewers)

1. ผู้ประเมินบทความต้องยินยอมพิจารณาบทความด้วยความเต็มใจ และควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาบทความที่มีประโยชน์ทางวิชาการ คุณภาพของการวิเคราะห์ และผู้ประเมินไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรับรองมาเป็นเกณฑ์การตัดสินบทความวิจัย

2. ผู้ประเมินบทความจะไม่เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของบทความที่ส่งมาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลาของการประเมิน

3. ผู้ประเมินบทความจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ เช่น เป็นผู้นิพนธ์ร่วม หรืออื่นๆ ที่จะทำให้ผู้ประเมินไม่สามารถประเมิน และให้ข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระ

4. ผู้ประเมินต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน

5. ผู้ประเมินต้องตระหนักว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของผลงานวิชาการที่รับประเมินอย่างแท้จริง

6. หากผู้ประเมินตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมิน เป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่นๆ ผู้ประเมินสามารถปฏิเสธการตีพิมพ์ และต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบทันที

7. ผู้ประเมินต้องรักษาระยะเวลาในการประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้

นโยบายจริยธรรมการทดลอง (Research Integrity Policy) ในงานวิจัย

          บทความจากงานวิจัยที่ส่งเข้ามารับการตีพิมพ์และเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์จากสถาบันที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานการวิจัยในคน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมและกฎหมายสากล

           บทความจากงานวิจัยที่ส่งเข้ามารับการตีพิมพ์และเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในสัตว์ทดลอง ต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ และอยู่ภายใต้หลักพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558