ภาวะไส้ติ่งอักเสบในสตรีตั้งครรภ์ ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
Main Article Content
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรมที่พบมากที่สุดในสตรีตั้งครรภ์ การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์ทำได้ยากและล่าช้ากว่าผู้ป่วยที่ไม่ตั้งครรภ์ ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนทั้งมารดาและทารกในครรภ์ มีรายงานจำนวนน้อยที่กล่าวถึง อุบัติการณ์ ลักษณะทางคลินิก การวินิจฉัยโดยคลื่นเสียงความถี่สูง การคลอดก่อนกำหนด และการใช้ยาคลายมดลูกในภาวะนี้ วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ ลักษณะทางคลินิก การวินิจฉัย และภาวะแทรกซ้อนของสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผู้ป่วยและวิธีการ: เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา โดยรวบรวมและทบทวนข้อมูลย้อนหลัง จากเวชระเบียนในสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ที่กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ระหว่าง วันที่ 1 มกราคม 2546 ถึง 31 ธันวาคม 2550 รวมระยะเวลา 5 ปี และแสดงผลโดยสถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษา: มีสตรีตั้งครรภ์ทั้งหมด 83 รายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์ อุบัติการณ์ไส้ติ่งอักเสบในสตรีตั้งครรภ์เท่ากับ 1: 496 ของการคลอด อายุผู้ป่วย เฉลี่ย 24.45.4 ปี (14-39 ปี) อายุครรภ์ที่พบส่วนมากอยู่ในไตรมาสสอง ผู้ป่วยทั้งหมดมาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง และมาโรงพยาบาลภายใน 24 ชม. ร้อยละ 87.3 อาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านขวาในไตรมาสหนึ่ง สอง และสาม พบร้อยละ 95.8, 71.8 และ 75.0 ตามลำดับ พบอาการคลื่นไส้ร้อยละ 60.8 อาเจียนร้อยละ 55.7 ตรวจร่างกายมีไข้เท่ากับหรือมากกว่า 38.0 องศาเซลเซียส ร้อยละ 64.6 ทุกรายกดเจ็บท้องน้อยด้านขวาสอดคล้องกับอาการ ตรวจพบ rebound tenderness ร้อยละ 62.0 abdominal guarding ร้อยละ 13.9 ภาวะ leukocytosis และ neutrophilia พบได้ร้อยละ 84.8 และ 50.6 ตามลำดับ การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงช่วยในการวินิจฉัยร้อยละ 14.3 ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด พบแผลอักเสบ ร้อยละ 1.3 ไส้ติ่งอักเสบในไตรมาสแรกมีอัตราแท้งเองร้อยละ 12.5 ในไตรมาสสองไม่มีรายใดที่แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดแม้ไม่ได้รับยาคลายมดลูก ส่วนในไตรมาสที่สาม มีอุบัติการณ์เจ็บครรภ์ก่อนกำหนดร้อยละ 25.0 และส่วนมากตอบสนองต่อการรักษาด้วย tocolytic drug สรุป: การตรวจหน้าท้องในไตรมาสแรกไม่แตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่ตั้งครรภ์ แต่ตำแหน่งที่ปวดจะเลื่อนสูงขึ้นในไตรมาสสอง และสาม การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงช่วยในการวินิจฉัยร้อยละ 14.3 ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดพบแผลอักเสบร้อยละ 1.3 ไส้ติ่งอักเสบในไตรมาสแรกมีอัตราแท้งร้อยละ 12.5 ในไตรมาสสองไม่มีรายใดที่แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดแม้ไม่ได้รับยาคลายมดลูก ส่วนในไตรมาสสาม มีอุบัติการณ์เจ็บครรภ์ก่อนกำหนดร้อยละ 25.0 และตอบสนองต่อการรักษาด้วย tocolytic drug
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.