การศึกษาสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนางานบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกับบทบาทการเป็นเมืองสมุนไพรของหน่วยบริการในจังหวัดนครปฐม

ผู้แต่ง

  • ลดาพรรณ เย็นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม จังหวัดนครปฐม

บทคัดย่อ

                 การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระว่างการพัฒนางานบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กับบทบาทการเป็นเมืองสมุนไพรของหน่วยบริการในจังหวัดนครปฐม วิธีการศึกษา ประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของหน่วยบริการภาครัฐในจังหวัดนครปฐม โดยเป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง (Retrospective study) ข้อมูลย้อนหลัง 6 ปี (พ.ศ.2557-2562) ซึ่งในปี 2557-2559 ยังไม่มีนโยบายการดำเนินงานเมืองสมุนไพรแต่ต่อมาในปี 2560-2562 มีนโยบายการดำเนินงานเมืองสมุนไพร ซึ่งในปี 2560 จังหวัดนครปฐมได้รับมอบหมายให้เป็นเมืองสมุนไพร ตัวแทนเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งโดยวิเคราะห์ด้วย SWOT Analysis วิเคราะห์จังหวัดนครปฐม ตาม PRECEDE Model แล้วนำปัจจัยที่ได้รับจากการเป็นเมืองสมุนไพรมาเป็นปัจจัยนำเข้า มาวิเคราะห์ผลการดำเนินงานโดยดูผลลัพธ์จากข้อมูลเชิงปริมาณจากโปรแกรม HDC และนำเข้าข้อมูลมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ทางสถิติ เพื่อเปรียบเทียบความสำเร็จก่อน (ปี 2557-2559) และหลัง (ปี 2560-2562) ดำเนินงานเมืองสมุนไพร

                ผลการวิจัยพบว่า : ปัจจัยที่ได้รับจากการเป็นเมืองสมุนไพรมีผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงานเมืองสมุนไพร ได้แก่ 1.เป็นนโยบายระดับประเทศมีความชัดเจนในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์เมืองสมุนไพร 2.มีข้อตกลงความร่วมมือของภาคเครือข่าย หน่วยงานหลัก 12 กระทรวงร่วมกับเมืองสมุนไพรทั้ง 14 จังหวัด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำสมุนไพรไทยมาใช้ในประเทศอย่างครบวงจร ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 3.มีข้อสั่งการชัดเจนมอบหมายให้จังหวัดนครปฐมเป็นตัวแทนเขตสุขภาพที่ 5 4.มีตัวชี้วัดการกำหนดเป้าหมายและหน่วยงานและรูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจน (มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกกระทรวง ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) และการประเมินผลที่เป็นรูปธรรม 5.มีแนวทางให้ผู้บริหารขับเคลื่อนอย่างชัดเจน 6.มีงบประมาณต่อเนื่องสำหรับกิจกรรม การสนับสนุนยาสมุนไพร พัฒนาองค์ความรู้และสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรการแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา การประชาสัมพันธ์ จัดทำสื่อเพื่อให้เข้าถึงยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น 7.มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันช่วยเสริมและผลักดันการเป็นเมืองสมุนไพรให้ชัดเจนขึ้น นำข้อมูลจากโปรแกรม HDC ในช่วงปี 2560-2562 (มีการดำเนิงานเมืองสมุนไพร) ซึ่งเป็นผลงานบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้แก่ 1.ร้อยละการให้บริการฯ  2.มูลค่าการสั่งจ่ายสมุนไพร 3.ปริมาณการสั่งจ่ายยาสมุนไพร และ 4.การให้บริการแผนไทย นวด อบ ประคบ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับช่วงปี 2557-2559 พบว่ามีค่าเพิ่มขึ้น และเมื่อหาความสัมพันธ์กับระดับความสำเร็จของการเป็นเมืองสมุนไพร โดยใช้วิธีหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และ สเปียร์แมน พบว่า 1.มูลค่าการสั่งจ่ายยาสมุนไพร 3 อันดับแรก 2.ปริมาณการสั่งจ่ายยาสมุนไพรมีตวามสัมพันธ์กับระดับความสำเร็จในการดำเนินงานเมืองสมุนไพร ค่าทางสถิติ (r=0.941, 0.840, p-value<0.05) แต่ร้อยละการให้บริการผู้ป่วยนอก และการให้บริการแผนไทย นวด อบ ประคบ ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความสำเร็จ ในการดำเนินงานเมืองสมุนไพร ค่าทางสถิติ (r=0.617, 0.621, p-value<0.05) และ (r=0.622, 0.621, p-value<0.05) ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ต้องนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติมต่อไป

                สรุปได้ว่า จากข้อมูลการวิเคราะห์ให้ผลสอดคล้องกับการได้รับปัจจัยจากการเป็นเมืองสมุนไพรในปี 2560-2562 สามารถนำเสนอข้อมูล 1.เสนอในระดับเขต เพื่อถอดบทเรียนให้เห็นไดว่าการได้รับโอกาสเป็นเมืองสมุนไพร ซึ่งเป็นนโยบายระดับประเทศเป็นการได้รับโอกาสได้เป็นตัวแทน ในการดำเนินงานขับเคลื่อนร่วมกับภาคเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภายนอกกระทรวงและภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนภายในจังหวัด การได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่องกับนโยบายส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน และแนวทางที่ชัดเจนสำหรับผู้บริหารในการขับเคลื่อนสนับสนุนการดำเนินงานเมืองสมุนไพร เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองสมุนไพร 2.เสนอในระดับกรม เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของภาคีเครือข่าย และการจัดสรรงบประมาณ และกำหนดรูปแบบในการใช้งบประมาณสำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมขับเคลื่อนเมืองสมุนไพรในหลากหลายมิติ สำหรับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาและนำสมุนไพรไปสู่การสร้างเศรษฐกิจของประเทศ 3.เสนอให้เป็นแนวทางสำหรับจังหวัดที่ต้องการพัฒนาและขับเคลื่อนงานด้านสมุนไพรแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยนำปัจจัยที่ส่งเสริมการดำเนินงานที่ได้จากการเป็นเมืองสมุนไพรมาใช้ ซึ่งผลที่ได้รับนอกจากประโยชน์ของสมุนไพรต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อไปสู่ระดับประเทศ ในเชิงเศรษฐกิจสมุนไพร และสามารถผลักดันต่อในด้านการตลาดส่งออกนอกประเทศ นำรายได้กลับคืนสู่ประเทศได้ต่อไป

References

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี (2559) แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564.นนทบุรี: ทีเอส อินเตอร์พรินท์.

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี (2559) โครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City).นนทบุรี:แมกเนท สโตร์.

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. รายละเอียดตัวชี้วัด กระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2560; เผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์สำนักนโยบายและ ยุทธศาสตร์ (http://bps.moph.go.th)

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. มณฑกา ธรชยสกล. (2558) ปัจจัยที่มีผลตอการจัดบริการเขตบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของสถานีบริการในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข.

ไพรัตน์ หริณวรรณ และคณะ (2552). การใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันในโรงพยาบาลศูนย์ลำปางและโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดลำปาง ปี 2545-2549.

สุกิจ ไชยชมภู และคณะ. (2555). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้สมุนไพรรักษา โรคของประชาชนในเขต 11 กระทรวงสาธารณสุข. วารสารเกื้อการุณย์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 ปี 2555.

อุษณีย์ ผาสก และคณะ (2561). แนวทางการพัฒนาเมืองสมุนไพรในจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อดึงดูดตลาดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-31