ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของสถานบริการสาธารณสุข ในจงหวัดกาญจนบุรี
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของสถานบริการสาธารณสุขในจังหวัดกาญจนบุรี โดยการทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ในจังหวัดกาญจนบุรี รวม 157 คน ด้วยแบบวัดปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ได้แก่ 1.แบบวัดข้อมูลส่วนบุคคล 2.แบบวัดความรู้ความเข้าใจในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ 3.แบบวัดการสนับสนุนทางสังคมในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ และ 4.แบบวัดพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2562
วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการคำนวณหาค่าสถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และระดับของความเข้าใจ และการสนับสนุนทางสังคมในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน เพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม เพื่อทดสอบสมมติฐานของการวิจัย ใช้สถิติการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบหลายขั้นตอน เพื่อหาปัจจัยทำนายพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในสถานบริการสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี
ผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 77.10 สถานภาพสมรสแล้ว คิดเป็นร้อยละ 61.8 จบระดับมัธยมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 61.10 อายุ 31-40 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.50 อายุการปฏิบัติงานส่วนใหญ่น้อยกว่า 10 ปี คิดเป็นร้อยละ 73.90 เงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 78.30 ได้รับการอบรมหลักสูตรป้องกันและระงับการแพร่เชื้อ คิดเป็นร้อยละ 64.97 และมีจำนวนครั้งในการอบรม อยู่ระหว่าง 0-5 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 89.20
กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการมูลฝอยติดเชื้ออยู่ในระดับมากที่สุด (Mean=4.43, S.D.=0.45) โดยค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ความเข้าใจว่าควรล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากปฏิบัติหน้าที่รวบรวมมูลฝอยติดเชื้อเสร็จแล้ว (Mean=4.80, S.D.=0.51) การสนับสนุนทางสังคมในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (Mean=4.04, S.D.=0.55) โดยพบว่าการสนับสนุนด้านอารมณ์มีค่าเฉลี่ย มากที่สุด คือ หัวหน้าหน่วยงานของท่านได้แสดงความห่วงใยและเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเพื่อลดความเครียดจากการปฏิบัติงานมูลฝอยติดเชื้อ (Mean=4.39, S.D.=0.63) และมีพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในการภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (Mean=4.27, S.D.=0.50) โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การปฏิบัติในหัวข้อท่านแยกมูลฝอยติดเชื้อประเภทของมีคม เช่น เข็มฉีดยา ใบมีด ไว้ในภาชนะที่แข็งแรง ทนต่อการแทงทะลุ (Mean=4.84, S.D.=0.53)
ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่มากที่สุด ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคมในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ (r=.445), จำนวนครั้งที่ได้รับการอบรม (r=.242) และความรู้ความเข้าใจในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ (r=.239) โดยปัจจัยที่มีความสามารถในการทำนายพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคมในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ที่สามารถทำนายพฤติกรรมได้ร้อยละ 20 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่รับ (p=0.05) โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยเท้ากับ 0.439
ผู้วิจัยเสนอแนะการพัฒนาพฤติกรรมการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ในสถานบริการสาธารณสุขควรได้รับการสนับสนุนทางสังคม โดยให้กำลังใจ สร้างแรงกระตุ้น และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานโดยการจัดอบรมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
References
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2546). คู่มือการดำเนินงานตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, กรงเทพฯ.
กระทรวงสาธารณสุข. (2560). ข้อมูลพื้นฐานของสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดสำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข. แหล่งที่มา : https://phdb.moph.go.th/main/index/downloadlist/57/0.
ปุญญพัฒน์ ปรีพร. (2551). การจัดการมูลฝอยติดเชื้อของสถานอนามัยในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สาธิต สว่างแสง. (2543). การจัดการขยะติดเชื้อของสถานอนามัยในจังหวัดยโสธร. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Deepak, P. (2012). Waste Management in small Hospitals: trouble for environment. Environ Monit Assess 184: 4449-4453.
Magda, M. (2010). Hospital waste management in El-Beheira Governorate, Egypt. Journal of Environmental Management 9: 618-629.
สุวัฒน์ อินทนาม. (2550). การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อของสถานีอนามัยขนาดใหญ่ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู. การค้นคว้าแบบอิสระปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
Da Silva, C.E. and others. (2005). Medical Waste Management in the South of Brazil. Waste Management 25(6), 600-605.
Rasheed, S. and others. (2005). Hospital Waste Management in the Teaching Hospitals of Karachi. J Pak Med Assoc. 55(5), 192-5.
Vetrivel, C. (2014). Segregation of biomedical waste in an South Indian tertiary care hospital. Journal of Natural Science, Biology and Medicine 5(2) : 378-382.
Dasimah, O. and other. (2012). Clinical Waste Management in District Hospitals of Tumpat, Batu Pahat and Taiping. Social and Behavioral Sciences 68 : 134-145.
เกศน์กานต์ แสนศรีมหาชัย. (2542). การจัดการมูลฝอยติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาล เอกชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2021 โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาและบุคลากรท่านอื่น ๆ ในโรงพยาบาลฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเอง