ประสิทธิผลของการใช้คู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต ในการดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต เขตสุขภาพที่ 9
คำสำคัญ:
ประสิทธิผล, คู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต, การดำเนินโครงการบทคัดย่อ
การวิจัยพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาคู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตในการดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตเขตสุขภาพที่ 9; 2) เพื่อศึกษาผลการใช้คู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตในการดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต เขตสุขภาพที่ 9 พื้นที่วิจัยประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ทีมพัฒนาเด็กและครอบครัวเขตสุขภาพที่ 9 ปี 2565 จำนวน 217 คนเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มอย่างง่าย และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 37 คนโดยคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามและการสนทนากลุ่ม ระยะเวลาศึกษามกราคม - มิถุนายน 2565 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบไคสแควร์ และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า ผลการตรวจสอบคุณภาพคู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตในการดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตจากผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านความเหมาะสมและสอดคล้องของเนื้อหา มีความเหมาะสมในระดับมาก ( = 3.71, S.D. = 0.78) ค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 1 ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ ทีมพัฒนาเด็กและครอบครัวมีความพึงพอใจต่อคู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต โดยรวมในระดับมากที่สุด ( = 3.86, S.D =0.86) และ หลังการใช้คู่มือ อัตราหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ อัตราหญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์คุณภาพครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ อัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน เด็กอายุ 9 เดือน-2 ปีได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็ก เด็กอายุ 0-2 ปีมีพัฒนาการสมวัยและสูงดีสมส่วน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 และอัตราทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ส่วนอัตราหญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจางพบว่าไม่มีความแตกต่างทางสถิติ
สรุป คู่มือ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตเขตสุขภาพที่ 9 มีประสิทธิผลในการดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต จึงควรขยายผลให้มีการใช้ในพื้นที่อื่นๆต่อไป
