ผลของการใช้โปรแกรมสนับสนุนการจัดการตนเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อชะลอไตเสื่อมต่อผู้ป่วยเบาหวานในศูนย์บริการสาธารณสุข 2 (ท.8)
คำสำคัญ:
การจัดการตนเอง, ชะลอไตเสื่อม, ผู้ป่วยเบาหวาน, โปรแกรมสนับสนุนบทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมสนับสนุนการจัดการตนเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อมต่อผู้ป่วยเบาหวานในศูนย์บริการสาธารณสุข 2 (ท.8) กองการแพทย์ เทศบาลนครอุดรธานี ต่อผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้จาก กลุ่มตัวอย่างจำนวน 50 ราย คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดแบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและ กลุ่มทดลองกลุ่มละ 25 ราย โดยจับคู่ตามคุณสมบัติดังนี้ (1) อายุต่างกันไม่เกิน 5 ปี (2) ค่าฮีโมโกลบินเอวันซีต่างกันไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ และ (3) ระยะไตเสื่อมอยู่ในระยะเดียวกัน กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมสนับสนุนการจัดการตนเองเสริมทักษะการจัดการตนเองร่วมกับรูปแบบการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเทคนิค 5เอ ประเมินผลก่อนและหลังการทดลองในสัปดาห์ที่ 1 และสัปดาห์ที่ 12 ใช้แบบประเมินพฤติกรรมการจัดการตนเอง ซึ่งทดสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ .74 และวัดผลลัพธ์ทางคลินิกได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดระดับฮีโมโกลบินเอวันซี ความดันโลหิต ระดับซีรั่มคริเอตินินและอัตราการกรองของไตด้วยเครื่องมือที่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานของโรงพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปใช้สถิติบรรยายการทดสอบสมมติฐาน ใช้สถิติทีคู่และทีอิสระในกรณีข้อมูลผ่านข้อตกลงเบื้องต้น ส่วนข้อมูลที่ไม่ผ่านข้อตกลงเบื้องต้นใช้สถิติ Mann-Whitney Test และ Wilcoxon Signed Ranks Test
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองหลังได้โปรแกรมการสนับสนุนการจัดการตนเองมีคะแนนพฤติกรรมการจัดการตนเองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) สำหรับค่าเฉลี่ยผลลัพธ์ทางคลินิกระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองหลังเข้าร่วมโปรแกรมการสนับสนุนการจัดการตนเองไม่มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>.05) แต่ภายในกลุ่มทดลอง พบว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) คลินิกผู้ป่วยเบาหวาน จึงได้นำรูปแบบการสนับสนุนการจัดการตนเองไปใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมการจัดการตนเองต่อไป
