สถานการณ์ตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2,500 วัน เขตสุขภาพที่ 8
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การศึกษาสถานการณ์การดำเนินงานตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2,500 วัน เขตสุขภาพที่ 8 เป็นการศึกษาเชิงสำรวจภาคตัดขวาง (Cross-sectional survey) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การขับเคลื่อนการดำเนินงานตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2500 วัน โดยศึกษาในตำบลที่เข้าร่วมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2500 วัน เขตสุขภาพที่ 8 ปี 2566 จำนวน 644 ตำบล กลุ่มตัวอย่างคือ ตำบลที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2500 วัน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบประเมินตนเองตามเกณฑ์ตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2500 วัน (SD2500) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) เก็บข้อมูลช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึง เดือนกันยายน 2566 ผลการศึกษาพบว่า มีตำบลที่เข้าร่วมประเมินรับรองเพื่อเป็นตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน plus สู่ 2,500 วัน จำนวน 244 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 37.89 เมื่อแยกการประเมินตนเองในแต่ละองค์ประกอบ พบว่า มีจำนวนตำบลที่มีผลคะแนน 80 คะแนนขึ้นไป ตามองค์ประกอบที่ 1 กลไกการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ จำนวน 186 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 76.22 องค์ประกอบที่ 2 การพัฒนาคุณภาพงานบริการสาธารณสุขและงานบริการด้านสังคม จำนวน 207 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 84.83 องค์ประกอบที่ 3 การพัฒนาคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน 210 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 86.06 และองค์ประกอบที่ 4 การมีส่วนร่วมของชุมชนและครอบครัว จำนวน 221 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 90.57 สรุปผลการประเมินตำบลที่ผ่านการรับรองเป็นตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2,500 วัน ซึ่งมีผลคะแนน 80 คะแนนขึ้นไปทุกองค์ประกอบ ทั้งสิ้น 172 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 70.49 ทั้งนี้จะนำผลการศึกษาไปพัฒนาเป็นรูปแบบและขยายพื้นที่การดำเนินงานตำบลมหัศจรรย์ 1,000 วัน Plus สู่ 2500 วัน เขตสุขภาพที่ 8 ตามบริบทพื้นที่ต่อไป
