ผลของการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันกระตุ้นเตือนตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีกลุ่มเสี่ยง ในชุมชนศรีชมชื่น 3 ศูนย์บริการสาธารณสุข 2 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
คำสำคัญ:
แอปพลิเคชันกระตุ้นเตือนตรวจเต้านมด้วยตนเอง, สตรีกลุ่มเสี่ยง, ความเชื่อด้านสุขภาพบทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันกระตุ้นเตือนตรวจเต้านมด้วยตนเองต่อความเชื่อด้านสุขภาพและพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีกลุ่มเสี่ยงในชุมชนศรีชมชื่น 3 ศูนย์บริการสาธารณสุข 2 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ชุดแอปพลิเคชันกระตุ้นเตือนตรวจเต้านมด้วยตนเอง แบบสอบถามความเชื่อด้านสุขภาพ ประกอบด้วย การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม การรับรู้ความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านม การรับรู้ประโยชน์ในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การรับรู้ความสามารถในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และแบบสอบถามความถูกต้องของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ผ่านการตรวจสอบ ความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้ค่า CVI ของแบบสอบถามระหว่าง .80-1.00 และนำไปทดสอบได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ .845 .817 .923 .847 .842 และ KR-20 เท่ากับ .743 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติ Paired t-test
ผลการวิจัยพบว่า หลังการใช้นวัตกรรมแอปพลิเคชันกระตุ้นเตือนตรวจเต้านมด้วยตนเอง กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม การรับรู้ความรุนแรง ของโรคมะเร็งเต้านม การรับรู้ประโยชน์ในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การรับรู้ความสามารถใน การตรวจเต้านมด้วยตนเองความถูกต้องในการตรวจเต้านมด้วยตนเองและพฤติกรรมการตรวจ เต้านมด้วยตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
