การศึกษากระบวนการผลิตและคุณภาพน้ำประปา ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลหนองตูม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
คำสำคัญ:
กระบวนการผลิตประปา, คุณภาพน้ำประปา, คลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการผลิตและคุณภาพน้ำที่ผลิตได้จากระบบประปาในพื้นที่เทศบาลตำบลหนองตูม ได้แก่ หมู่ที่ 1, หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 6, และหมู่ที่ 11 ประเมินกระบวนการผลิตน้ำประปาโดยสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ดูแลระบบประปา ศึกษาคุณภาพน้ำประปาโดยเก็บตัวอย่างน้ำประปาที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำผ่านระบบกรอง ถังน้ำใส หอสูง และน้ำในระบบท่อจ่าย รวมถึงขั้นตอนการเติมสารเคมีหรือคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรีย พารามิเตอร์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำประปา ได้แก่ ความขุ่น ความเป็นกรดและด่าง สีปรากฏ ของแข็งละลายน้ำทั้งหมด ความกระด้าง ซัลเฟต คลอไรด์ ไนเตรท ไนไตรท์ ฟลูออไรด์ เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว โครเมี่ยมรวม แคดเมี่ยม สารหนู ปรอท โคลิฟอร์มแบคทีเรีย และอีโคไล เทียบกับเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ปี พ.ศ. 2563 กรมอนามัย ผลการศึกษาพบว่าคุณภาพน้ำประปาผิวดินหมู่ 1 และ หมู่ 3 มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ปริมาณคลอรีนคงเหลือต้นท่อเท่ากับ 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คุณภาพน้ำประปาบาดาลหมู่ 6 มีค่าของแข็งละลายน้ำทั้งหมด ความกระด้าง คลอไรด์ แมงกานีส โคลิฟอร์มและอีโคไลน์ เกินค่ามาตรฐาน และคุณภาพน้ำประปาผิวดินหมู่ 11 มีค่าสีปรากฏ แมงกานีสและโคลิฟอร์ม เกินเกณฑ์มาตรฐาน ปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือทั้ง 2 แห่ง มีค่าน้อยกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ไม่เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การประเมินคุณภาพระบบประปาผิวดิน พบว่าระบบประปาหมู่ที่ 1 มีผลการประเมินในระดับดีมาก คะแนนร้อยละ 90 รองลงมาหมู่ที่ 3 และ หมู่ 11 มีผลการประเมินในระดับดี คะแนนร้อยละ 86 และ 82 ตามลำดับ ในส่วนระบบประปาบาดาลหมู่ที่ 6 ผลการประเมินในระดับพอใช้ คะแนนร้อยละ 64
