ผลของโปรแกรมการดูแลผู้สูงอายุระยะเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลสู่บ้าน ในสถานการณ์โควิด-19 ต่อการกลับมารักษาซ้ำภายใน 30 วัน
คำสำคัญ:
การดูแลระยะเปลี่ยนผ่าน, ผู้สูงอายุ, การกลับมารักษาซ้ำบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่ม วัดผลก่อนและหลังการทดลอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลผู้สูงอายุระยะเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลสู่บ้านในสถานการณ์โควิด-19 ต่อการกลับมารักษาซ้ำภายใน 30 วัน กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปทุมรัตต์ จำนวน 42 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 21 คน ทำการศึกษาเป็นเวลา 3 เดือนระหว่างเดือน เมษายน 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 การเก็บรวบรวมข้อมูล ทำ 2 ครั้ง คือ เมื่อผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงก่อนให้โปรแกรม และภายหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาล 30 วัน โดยใช้แบบประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม แบบประเมินคะแนนความเสี่ยงต่อการกลับมารักษาซ้ำ แบบบันทึกการเยี่ยมบ้าน แบบบันทึกการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์และติดตามการกลับมารักษาซ้ำ วัดผลลัพธ์หลัก คือ อัตราการกลับมารักษาซ้ำภายใน 30 วัน และผลลัพธ์รอง คือ ค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สถิติไคสแควร์ และสถิติที
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีการกลับมารักษาซ้ำภายใน 30 วันต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 9.52 เทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งมีถึงร้อยละ 38.10, c2 = 4.73 p-value = 0.03) ส่วนค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของทั้งสองกลุ่มก่อนและหลังทดลองไม่แตกต่างกัน (p = 0.33)
การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าโปรแกรมดังกล่าวสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในระยะเปลี่ยนผ่าน ช่วยลดการกลับมารักษาซ้ำใน 30 วันได้ ดังนั้น จึงควรนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลในระยะเปลี่ยนผ่านของผู้สูงอายุ