ความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ของนักเรียนวัยรุ่นหญิงในเขตสุขภาพที่ 8
คำสำคัญ:
ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, พฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์, นักเรียนวัยรุ่นหญิงบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนวัยรุ่นหญิงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เก็บข้อมูลจำนวน 1,166 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ของนักเรียนวัยรุ่นหญิง เก็บข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้และความเข้าใจในการป้องกันการตั้งครรภ์ การเข้าถึงข้อมูลและบริการ การสื่อสารเพิ่มความเชี่ยวชาญ การจัดการเงื่อนไขทางสุขภาพ การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ การตัดสินใจเลือกปฏิบัติที่ถูกต้อง และพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยใช้แบบสอบถาม ค่า IOC ของแบบสอบถามนี้อยู่ระหว่าง 0.67-1 โดยให้ตอบเอง ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเสร็จรูป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 16.9 ± 0.9 ปี มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเกรดเฉลี่ย 3 ขึ้นไป ร้อยละ 86.8 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 95.5 พักอาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ร้อยละ 59.9 สถานภาพสมรสของบิดามารดาแต่งงานและอาศัยอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 61.6 การศึกษาของผู้ปกครองอยู่ระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 28.3 อาชีพของผู้ปกครอง ทำไร่ ทำนา ทำสวน ร้อยละ 33.3 รายได้ของครอบครัวพอเพียงและมีเงินเหลือเก็บพอควร ร้อยละ 47.3 ความสัมพันธ์ในครอบครัวรักใคร่กันดี 41.8 รองลงมา แหล่งของการได้รับข้อมูลด้านสุขภาพได้รับข้อมูลจาก อินเตอร์เน็ตหรือเว็บไซต์ ร้อยละ 86.6 ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ของนักเรียนวัยรุ่นหญิงภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้ได้ ร้อยละ 60.5 เมื่อจำแนกรายด้าน พบว่า ความรู้และความเข้าใจในการป้องกันการตั้งครรภ์พอใช้ได้ ร้อยละ 45.6 การเข้าถึงข้อมูลและบริการอยู่ในระดับไม่ดีพอ ร้อยละ 46.1 การสื่อสารเพิ่มความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับไม่ดีพอ ร้อยละ 52.2 การจัดการเงื่อนไขทางสุขภาพอยู่ในระดับพอใช้ได้ ร้อยละ 37.9 การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศระดับไม่ดีพอ ร้อยละ 45.5 การตัดสินใจเลือกปฏิบัติที่ถูกต้องระดับดีมาก ร้อยละ 71.9 และนักเรียนหญิงมีพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 92.2 สรุป ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ของนักเรียนวัยรุ่นหญิงภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าในอดีต มีพฤติกรรมการป้องกันการตั้งครรภ์อยู่ในระดับดีมาก