การพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลในการรับฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์รายใหม่ ภายใต้มาตรฐาน Udonthani Model Classifying Pregnancy 2022 คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี
คำสำคัญ:
การพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาล, หญิงตั้งครรภ์รายใหม่, การฝากครรภ์บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลในการรับฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์รายใหม่ ภายใต้มาตรฐาน Udonthani Model Classifying Pregnancy 2022 คปสอ.กุดจับ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ระหว่าง เดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน 2566 กลุ่มตัวอย่าง ประกอบไปด้วย 2 กลุ่มคือ 1) พยาบาลวิชาชีพที่ให้บริการในงานฝากครรภ์ จำนวน 15 คน และ 2) หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมารับบริการฝากครรภ์ครั้งแรกทุกราย ในช่วงเวลาที่ศึกษา จำนวน 32 คน
เครื่องมือการวิจัยประกอบด้วย แบบประเมินกิจกรรมการพยาบาลที่พึงให้กับผู้มารับบริการ แบบสอบถามความรู้ ทัศนคติ แรงสนับสนุนทางสังคม และพฤติกรรมการดูแลตนเองก่อนและหลังการให้บริการในหญิงตั้งครรภ์รายใหม่ที่มารับบริการคลินิกฝากครรภ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและใช้สถิติอ้างอิงในการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนน ปัจจัย ก่อนและหลังการพัฒนาโดยใช้ Paired t-test วิเคราะห์ค่าความเที่ยงโดยใช้วิธีสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s Coefficient of Alpha) มีค่าเท่ากับ 0.86
ผลการวิจัยพบว่า หลังจากการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลในการรับฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์รายใหม่ ภายใต้มาตรฐาน Udonthani Model Classifying Pregnancy 2022 คะแนนเฉลี่ย ความรู้ ทัศนคติ แรงสนับสนุนทางสังคม และพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ หลังได้รับกิจกรรมสูงกว่าก่อน ได้รับกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการปฏิบัติการพยาบาลในการรับฝากครรภ์ที่ไม่ได้ปฏิบัติในบางกิจกรรม เช่น การชี้แจงแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ตามประเภทความเสี่ยง ถึงร้อยละ 46.77 รองลงมา การแจ้งแผนเยี่ยมบ้านช่วงตั้งครรภ์ ร้อยละ 40.0 การประเมินและบันทึกการตรวจเต้านมและหัวนม ร้อยละ 33.44 การแนะนำขั้นตอนการฝากครรภ์ การบริการฝากครรภ์ ร้อยละ 13.44 และการแจ้งแผนเยี่ยมบ้านหลังคลอดร้อยละ 6.44
ผลการศึกษานี้เสนอแนะให้มีการส่งเสริมและติดตามประเมินผลการพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลในการรับฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์รายใหม่ ภายใต้มาตรฐาน Udonthani Model Classifying Pregnancy โดยใช้กลวิธีที่หลากหลายและต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาและสามารถนำไปใช้ได้ในบริบทของหน่วยงานอื่นๆ ในแต่ละสถานพยาบาล
