ความพึงพอใจและความคาดหวังของบุคลากรสาธารณสุขที่มีต่อการบริหารงาน กรณีศึกษา: โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ประสงค์ถ่ายโอน ไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี

ผู้แต่ง

  • น้องนุช ฉัตรศรีทองกุล กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี

คำสำคัญ:

ความพึงพอใจ, ความคาดหวัง, การบริหารงาน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลการถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาความพึงพอใจและความคาดหวัง ของบุคลากรสาธารณสุข ที่มีต่อการบริหารงาน  กรณีศึกษา: โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ประสงค์ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล กับ ความพึงพอใจและความคาดหวังของบุคลากร  เปรียบเทียบความพึงพอใจและความความคาดหวังของบุคลากรสาธารณสุข ที่มีต่อการบริหารงาน รวมทั้งศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม กลุ่มตัวอย่างคือบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ประสงค์ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี  จำนวน 234 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม เก็บรวบรวมข้อมูล โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ “กาญจนบุรีถ่ายโอน รพ.สต.” ตอบแบบสอบถามออนไลน์ โดยใช้ Google Form สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าร้อยละ (Percentage) บุคคล ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviasion) การทดสอบค่าที(Independent Samples T-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(Oneway ANOVA)

ผลการศึกษา พบว่า บุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง  มีอายุระหว่าง  30-39  ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี   ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข มีอายุราชการไม่เกิน 10 ปี อัตราเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ความพึงพอใจของบุคลากรสาธารณสุขที่มีต่อการบริหารงาน ในภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลาง  ด้านความคาดหวังของบุคลากรสาธารณสุขที่มีต่อการบริหารงาน ในภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมากปัจจัยส่วนบุคคล เพศ อายุ และ ตำแหน่ง แตกต่างกัน จะมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานในภาพรวมไม่แตกต่างกัน  ส่วนระดับการศึกษา ระยะเวลาในการปฏิบัติงานและ อัตราเงินเดือน ต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการบริหารงานในภาพรวม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ด้านความคาดหวัง ปัจจัยส่วนบุคคล เพศอายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่งระยะเวลาในการปฏิบัติงาน และอัตราเงินเดือน ต่างกัน มีความคาดหวังต่อการบริหารงานในภาพรวมและทุกด้านไม่แตกต่างกัน

ความพึงพอใจและความความคาดหวังของบุคลากรสาธารณสุขที่มีต่อการบริหารงาน ทั้งในภาพรวมและรายด้านทุกด้าน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ไม่แสดงความเห็นรองลงมาเป็นกลุ่มที่เห็นด้วย ต้องการถ่ายโอนโดย ต้องการความก้าวหน้าในวิชาชีพ, ต้องการให้มีการปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับวุฒิการศึกษา, ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องของทุกหน่วยงานปฏิบัติตามนโยบาย ให้ความสำคัญกับกฎหมายกระจายอำนาจ สนับสนุนการถ่ายโอน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการถ่ายโอน เนื่องจากไม่มั่นใจในสายงานที่ขึ้นกับการเมือง, ไม่เห็นด้วยกับการถ่ายโอนแต่ต้องการความก้าวหน้า,ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขควรดูแล รพ.สต. ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และ คิดว่าไม่แตกต่างจากสังกัดเดิม

References

แนวทางการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด. (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น.

ปวัณรัตน์ พสกภักดี. (2560). ความคาดหวังและความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการ OPPY Club ของผู้สูงอายุ.ปริญญาวารสารศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาวิชาการบริหารสื่อสารมวลชน.

ปราโมทย์ นวลประสงค์. (2552). ทัศนคติต่อการถ่ายโอนภารกิจด้านการจัดการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่จังหวัดระยอง.ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม)คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

ภุมรินทร์ ทวิชศรี. (2554). ความคาดหวังและความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของพนักงานบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด.บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิชาเอกการจัดการวิศวกรรมธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

สถาปนวัฒน์ ภู่มาลา. (2560). ทัศนคติและความคาดหวังของหน่วยรับตรวจราชการในส่วนภูมิภาคต่อการกํากับติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. ปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สาขาการบริหารและนโยบายสวัสดิการสังคม ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-08-31