ผลของโปรแกรมไทยต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
คำสำคัญ:
ออทิสติก, ไทยโมเดล, พัฒนการเด็ก, พัฒนาการอารมณ์สังคมบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research) แบบวัดกลุ่มเดียวก่อน และหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อศึกษาประสิทธิผลของการส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติกด้วยโปรแกรมไทย โดยเปรียบเทียบจากการเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการอารมณ์ สังคมของเด็กออทิสติกเด็ก และการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่/ผู้ดูแลก่อนและหลังใช้โปรแกรมไทย กลุ่มตัวอย่างเป็นครอบครัวของเด็กออทิสติกที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จำนวน 5 ครอบครัว คัดกรองกลุ่มตัวอย่างโดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง สำหรับโปรแกรมไทยประกอบด้วย 1) กิจกรรมห้องเรียนพ่อแม่ 2) กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กและฝึกสอนพ่อแม่ 3) การส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่บ้านด้วยโปรแกรมไทยโดยพ่อแม่หรือผู้ดูแลหลัก ส่วนเครื่องมือสำหรับวัดผลการวิจัย ได้แก่ 1) แบบเก็บข้อมูลพื้นฐาน 2) แบบประเมินพัฒนาการอารมณ์ สังคม (FEAS) 3) แบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) 4) แบบสอบถามความเครียดผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตร (PSI-SF) 5) แบบประเมินทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก (I-CARE) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยด้วยสถิติเชิงพรรณนา และ Wilcoxon signed rank test
ผลการวิจัยหลังเข้าร่วมโปรแกรม พบว่า ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z = -2.032, p = 0.042) ในขณะที่พัฒนาการทางอารมณ์สังคม (Z = -1.214, p = 0.225) และความเครียดผู้ดูแลเด็ก (Z = -.674, p = 0.500) ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปว่าโปรแกรมไทยทำให้ครอบครัวมีทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กออทิสติกดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเครียดของผู้ดูแลหลักลดลงและพัฒนาการทางอารมณ์ สังคมของเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้นแต่ไม่พบนัยสำคัญทางสถิติ
