ผลของโปรแกรมการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน ต่อความรู้ ความเชื่อด้านสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง ในบุคลากรโรงพยาบาลสุรินทร์
คำสำคัญ:
ความรู้, ความเชื่อด้านสุขภาพ, พฤติกรรมการป้องกันการสูญเสียการได้ยินบทคัดย่อ
การศึกษาแบบกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน ประชากรที่ศึกษาคือบุคลากรโรงพยาบาลสุรินทร์ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่สัมผัสเสียงดัง จำนวน 113 คน สุ่มตัวอย่างได้ 45 คน แบบสอบถามผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ทุกข้อคำถามมีค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) มากกว่า 0.50 และวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.83, 0.81 ,0.81 ตามลําดับ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2566 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา และ Paired sample t-test โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้เกี่ยวกับอันตรายของเสียงดัง และวิธีการใช้อุปกรณ์ปกป้องการได้ยิน ค่าเฉลี่ยของคะแนนความเชื่อด้านสุขภาพ และค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการป้องกันการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง ก่อนและหลังดำเนินการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 การดำเนินกิจกรรมในการศึกษาทุกขั้นตอนอาศัยการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย หัวหน้างาน/กลุ่มงาน ร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นในการเลือกวิธีการป้องกันที่ดีและเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานที่สุด เพื่อให้เกิดการแก้ไขที่ยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นโครงการนี้สามารถนำไปใช้ส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันการสูญเสียการได้ยินสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานสัมผัสเสียงดังในโรงพยาบาลอื่นที่มีปัญหาคล้ายกัน
