ผลการใช้รูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรง งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลยโสธร

ผู้แต่ง

  • Vorawut kaewhan

บทคัดย่อ

การวิจัยชนิดกึ่งทดลอง (Quasi –Experimental Research) นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรง งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลยโสธร กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินจำนวน 17 คน ผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรง 40 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 20 ราย กลุ่มทดลอง 20 ราย  ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง  31 มกราคม 2567 เครื่องมือในการวิจัย คือรูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรง ประกอบด้วย 1) ชุดการจัดการทางการพยาบาลระยะฉุกเฉินในผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรง 2) การพัฒนาสมรรถนะพยาบาลผู้ปฏิบัติงาน 3) การนิเทศการปฏิบัติงาน เครื่องมือรวบรวมข้อมูล คือ 1)แบบบันทึกข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 2) แบบบันทึกคุณภาพการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรง 3) แบบประเมินความรู้ ในการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรง 4) แบบประเมินการปฏิบัติตามแนวทางการพยาบาลระยะฉุกเฉินในผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรง 5) แบบประเมินความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา independent t-test และ chi-square test

ผลการศึกษาพบว่า หลังการดำเนินการตามรูปแบบ ร้อยละผู้ป่วยได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจภายใน 10 นาที เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 100 ร้อยละผู้ป่วยได้รับการ CT ภายใน 30 นาที เพิ่มจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 100 อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองภายใน 24 ชม. ลดลงจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ15 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p< .05 ส่วนอัตราการเสียชีวิตลดลงจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 15 แต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ผลการประเมินความรู้พบว่าคะแนนเฉลี่ยหลังการใช้รูปแบบเพิ่มขึ้นจาก 8.35 เป็น 13.18 คะแนน  ผลการประเมินการปฏิบัติตามแนวทางมีคะแนนเฉลี่ย 3.75 คือมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และความพึงพอใจต่อรูปแบบคะแนนเฉลี่ย 4.65 อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด

สรุปรูปแบบการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองระดับรุนแรงที่พัฒนาขึ้น ทำให้กระบวนการดูแลมีความชัดเจน ปฏิบัติได้ง่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองได้รับการดูแลตามที่กำหนด ทำให้ภาวะแทรกซ้อนลดลง และเจ้าหน้าที่มีความพึงพอใจในการใช้รูปแบบ

เผยแพร่แล้ว

2024-06-21