การพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีภาวะหายใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน: กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • Choocheep Meesiri

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การแพร่ระบาดเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน และต่อมาได้มีการแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 สามารถติดต่อได้ผ่านทางละอองของเสมหะ การไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และการสัมผัสในบริเวณหรือวัตถุที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายอาจพบอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ บางรายอาจมีอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรง มีภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบ แนวทางการให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน กรณีศึกษาผู้ป่วย 2 ราย

วิธีการดำเนินงาน: ศึกษาและเปรียบเทียบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีภาวะหายใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยอายุรกรรมทางเดินหายใจ โรงพยาบาลศีขรภูมิ จำนวน 2 ราย โดยรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย แบบประเมินภาวะสุขภาพของ FANCAS และแบบประเมินความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโดยการบูรณาการทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็ม ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงการเปรียบเทียบข้อมูลข้อมูลพื้นฐาน การวินิจฉัยโรค ประวัติการเจ็บป่วย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ แบบแผนสุขภาพ ความต้องการการดูแลตนเอง การรักษา ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล การวางแผนจำหน่ายและการดูแลต่อเนื่อง

ผลลัพธ์: กรณีศึกษาทั้ง 2 รายนี้ เป็นผู้ป่วยวัยสูงอายุ ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการปอดอักเสบและมีการดำเนินโรคที่มีความรุนแรง กรณีศึกษารายที่ 1 เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 64 ปี มาด้วยอาการไอหายใจหอบ นอนราบไม่ได้ ก่อนมาโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรังระยะสุดท้าย และเก๊าท์ ขณะรับการรักษาผู้ป่วยมีภาวะน้ำเกินทำให้ต้องเฝ้าระวังและให้การพยาบาลร่วมกับจัดการภาวะหายใจลำบาก กรณีศึกษารายที่ 2 เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 79 ปี มาด้วยอาการไข้หนาวสั่น พูดจาสับสน ถ่ายเหลว ก่อนมาโรงพยาบาล 5 ชั่วโมง มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรังระยะที่ 2 และหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีประวัติรับประทานยาละลายลิ่มเลือดจึงต้องเฝ้าระวังภาวะเลือดออกง่ายหยุดยากร่วมกับการรักษาภาวะหายใจลำบาก กรณีศึกษาทั้ง 2 รายได้รับการให้การพยาบาลตามมาตรฐานการพยาบาล โดยมีการกำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลที่คล้ายคลึงกัน ภายหลังได้รับการรักษากรณีศึกษาทั้ง 2 ราย มีอาการทุเลาจากปัญหาที่พบและอาการเจ็บป่วย สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้อย่างเหมาะสม ญาติผู้ป่วยเข้าใจแนวทางการรักษา สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลและดูแลต่อเนื่องที่บ้านได้

สรุป: พยาบาลมีบทบาทในการประเมินและเฝ้าระวังอาการ อาการแสดง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการที่รุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้ พยาบาลจึงต้องมีการพัฒนาสมรรถนะในการประเมินภาวะสุขภาพของผู้ป่วย โดยคำนึงถึงปัญหาทางการพยาบาลที่มีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย และมีทักษะในการจัดการอาการของผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะคุกคามต่อชีวิตของผู้ป่วยหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อไป

เผยแพร่แล้ว

2024-06-21