ผลการใช้รูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเร่งด่วน แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลยโสธร

ผู้แต่ง

  • Sermsiri Thongwan

บทคัดย่อ

การเกิดความดันโลหิตสูงเร่งด่วน จะมีผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ คือ สมอง หัวใจ ไตและตา ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้นถ้าไม่ได้รับการรักษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการพยาบาลความดันโลหิตสูงเร่งด่วน  กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินจำนวน 17 คน ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเร่งด่วนจำนวน 70 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 35 ราย กลุ่มทดลอง 35 ราย คือผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเร่งด่วนที่มารับบริการที่งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลยโสธร ดำเนินการเก็บข้อมูลวันที่ 30 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 ถึงวันที่ 30 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เครื่องมือในการดำเนินการวิจัย คือ 1)รูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเร่งด่วน 2)วีดีโอให้ความรู้  4) Line Application 5)แบบบันทึกข้อมูลเฝ้าระวังอาการ เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล 1)แบบประเมินความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูงเร่งด่วน 2)แบบประเมินการปฏิบัติตามรูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเร่งด่วนของพยาบาลวิชาชีพ 3) แบบประเมินความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพ ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน โดยแบบประเมินความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูงเร่งด่วนใช้ค่า Kr-20 ได้ค่า 0.52 แบบสอบถามความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพ ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค (Cronbach's Coefficient Alpha) เท่ากับ 0.88 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และเปรียบเทียบความแตกต่างโดยใช้ สถิติ pair t- test, Independent t-test และ chi-square

            ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการพยาบาลตามรูปแบบการพยาบาลความดันโลหิตสูงเร่งด่วน พบว่ามีระดับความรู้แรกรับและก่อนจำหน่ายแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.05 (P=.000) ค่าความดันโลหิตที่ลดลงใน 1 ชั่วโมงและค่าความดันหลอดเลือดแดงที่ลดลงในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองไม่แตกต่างกันแต่ ไม่มีอุบัติการณ์เกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่มีอุบัติการณ์กลับมารักษาซ้ำใน 48 ชั่วโมง และผู้ป่วยมาตรวจตามนัดเพิ่มมากขึ้น บุคลากรในหน่วยงานปฏิบัติตามรูปแบบในภาพรวมอยู่ในระดับมากและมีความพึงพอใจในระดับมาก

สรุป การมีรูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเร่งด่วน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องและมีความรู้เรื่องโรคและการปฏิบัติตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ไม่กลับมารักษาซ้ำใน 48 ชั่วโมง มีการมาตรวจตามนัดเพิ่มมากขึ้น และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานมีความพึงพอใจ

เผยแพร่แล้ว

2024-05-23